ที่ดินใต้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ปกติแล้วจะถูกรอนสิทธิโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการจ่ายค่ารอนสิทธิกันคล้ายการเวนคืน แต่กรรมสิทธ์ยังเป็นของเจ้าของที่ดินอยู่ไม่ได้โอนไปเหมือนการเวนคืน
โดยที่ดินที่ตั้งอยู่ภายใต้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงจะถูกรอนสิทธิ ตามประกาศการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 กำหนดไว้ดังนี้
- ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นอันตรายแก่ระบบไฟฟ้า เช่น ห้ามนำวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรกล เช่น รถเครน รถยก รถตัก รถขุด เข้าใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงน้อยกว่า 4.00 เมตร หรือ ห้ามเผ่าไร้อ้อย นาข้าว ป่าพง หรือวัสดุอื่นใดในเขตแนวสายไฟฟ้า
- ห้ามปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือ สิ่งปลูกสร้างอื่น ทุกชนิด ในเขตเดินสายไฟฟ้า
- ห้ามปลูกต้นไม้ หรือพืชผล ในเขตเดินสายไฟฟ้า ดังนี้
-บริเวณพื้นที่ที่ตั้งเสา และพื้นที่โดยรอบโคนเสา ภายในระยะห่างจากแนวขาเสา 4 เมตร ห้ามปลูกต้นไม้ หรือพืชผล ทุกชนิด
-บริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้านอกจากข้อข้างบน ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผล ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วมีความสูงเกินกว่า 3 เมตร
-บริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า ของสายส่งไฟฟ้า ระดับแรงดัน 500,000 โวลต์ ห้ามปลูกอ้อย - ห้ามกระทำการใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นดิน บริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า เช่น การปรับสภาพพื้นดินให้สูงขึ้น การขุดดิน การขุดบ่อ การก่อสร้างถนน จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรการ กฟผ.ก่อน
ระยะห้ามปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน และ บ้านพักอาศัยในเขตเดินสายไฟฟ้า
ขนาด (กิโลโวลต์) | ระยะห้ามจากแนวศูนย์กลางของเสาส่งไฟฟ้า ด้านละ |
---|---|
69 กิโลโวลต์ | 9 เมตร |
115 กิโลโวลต์ | 12 เมตร |
132 กิโลโวลต์ | 12 เมตร |
230 กิโลโวลต์ | 20 เมตร |
300 กิโลโวลต์ | 20 เมตร |
500 กิโลโวลต์ | 40 เมตร |
การสร้างขึ้นหรือทำขึ้น ซึ่งสิ่งใดก็ตามที่นอกเหนือจาก อาคาร โรงเรือน และที่พักอาศัย ไปจนถึงการกระทำใดๆที่ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงพื้นดินบริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า เช่น การปรับสภาพพื้นดินให้สูงขึ้น การขุดดิน การขุดบ่อ การก่อสร้างถนน จะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กฟผ. ก่อน การอนุญาตให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ กฟผ. กำหนด
ดังนั้น โรงเรือนหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างขึ้น หรือทำขึ้น ต้นไม้หรือพืชผล ที่ปลูกขึ้น การปรับสภาพดิน ขุด เจาะ โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่ได้รับอนุญาต เป็นผลให้ กฟผ.มีอำนาจรื้อถอน ทำลาย หรือตัดฟันตามสมควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนใดๆทั้งสิ้น
และถ้าหากมันจำเป็นจริงๆที่จะกระทำตามข้อห้ามข้างต้นทั้งหมดจริงๆแล้วล่ะก็ ผู้ดำเนินการเองก็จะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กฟผ. เสียก่อน และต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขที่ กฟผ.ได้กำหนดไว้ทั้งหมดอย่างเคร่งครัดด้วย
ถ้าพิจารณาจากข้อกำหนดพื้นที่ใต้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง จะเห็นว่าไม่สามารถก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภทได้ แม้แต่ปลูกพืชก็ปลูกได้เฉพาะพืชสูงไม่เกิน 3 เมตรเท่านั้น
แล้วที่ดินติดเสาไฟฟ้าสามารถประเมินราคาหรือมีมูลค่าอยู่หรือไม่?
เมื่อมีข้อจำกัดการก่อสร้างและการใช้ประโยชน์เช่นนี้ ก็จะส่งผลต่อราคาที่ดิน โดยในการประเมินค่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ประเมินมักจะไม่ทำการประเมินให้ เนื่องจากเห็นว่าแทบใช้ประโยชนไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม มูลค่าเมื่อมีที่ดินก็ควรมีอยู่ โดยผู้ประเมินจะพิจารณาจากการใช้ประโยชน์ ว่าจะสามารถทำอะไรได้ เช่น เป็นที่จอดรถ (เก็บเงิน) เป็นพื้นที่จัดสวน เป็นต้น
ในพื้นที่ชนบท โดยทั่วไปแล้วจะไม่ทำการประเมินราคา เนื่องจากศักยภาพการใช้ประโยชน์ ก็เพียงแต่สามารถปลูกพืช ไม่เกิน 3 เมตร เช่น ทำนา ปลูกผัก เป็นต้น
แล้วที่ดินติดเสาไฟฟ้าแรงสูงจำนองได้ไหม
จากข้อมูลข้างต้น ที่ดินติดเสาไฟฟ้าแรงสูงจึงไม่มีสถาบันการเงินใดรับจำนองที่ดินประเภทนี้ รวมถึงบริษัททุนแหลมทองด้วย การมีที่ดินเหล่านี้ในครอบครองจึงยากต่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อและหากต้องการนำไปใช้ประโยชน์ก็ต้องยื่นเรื่องขอกับ กฟผ. จึงเป็นข้อควรระวัง และตรวจสอบที่ดินให้ดีก่อนทำการซื้อขายที่ดินใดๆก็ตาม
ตรวจสอบได้อย่างไรไม่ให้หลงซื้อ
การจะซื้อที่ดินแปลงใดก็ตาม เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเพราะไม่ให้เสียผลประโยชน์ในการซื้อที่ดินเหล่านี้ ซึ่งบางแปลงอาจมีราคาสูงแต่กลับไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างที่เราต้องการ ซึ่งการตรวจสอบนั้นง่ายมาก หากเราเจอที่ดินที่เราชอบและต้องการซื้อ เพียง เข้าเว็ปไซต์กรมที่ดิน https://landsmaps.dol.go.th/ และทำตามขั้นตอนดังนี้
1. เลือกจังหวัด และ อำเภอตามข้อมูลบนโฉนด
2. คีย์เลขโฉนดที่ดิน ลงไปให้เรียบร้อย และ กดค้นหา
3. ดูรูปแผนที่ตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีเสาไฟฟ้าแรงสูงใกล้เคียงหรือไม่
แหล่งอ้างอิง
thaiapraisal.org
dotproperty.co.th
freepik.com